วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ

ธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business) หมายถึง ธุรกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป อาจเป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทเอกชนกับเอกชน รัฐบาลกับรัฐบาล หรือระหว่างเอกชนกับรัฐบาลก็ได้ สาเหตุของการเกิดธุรกิจระหว่างประเทศ
สาเหตุที่ทำให้ต้องมีธุรกิจระหว่างประเทศ
- การมีทรัพยากรที่แตกต่างกัน การมีทรัพยากรที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศย่อมก่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
- การมีสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ อาจจะต้องทำการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มีเหลือจากการบริโภคในประเทศ
- การคำนึงถึงความคุ้มค่า และต้นทุนต่ำสุด ในบางครั้งสินค้าอาจจะสามารถผลิตได้เองภายในประเทศแต่มีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
- การถ่ายโอนวัฒนธรรม จากกระแสโลกาภิวัฒน์ และการถ่ายโอนวัฒนธรรมระหว่างกัน เช่นวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าตะวันตกของโลกตะวันออก เช่น การบริโภคอาหาร fast food
- ความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างกัน ในประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวไกลกว่าย่อมสามารถที่จะพัฒนาสินค้าได้มีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ จึงทำให้เกิดการถ่ายโอนสินค้าไปยังประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีล้าหลังกว่า
- การคำนึงถึงประโยชน์และผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งอาจมองเห็นโอกาสในการทำกำไรในตลาดใหม่หรือได้รับประโยชน์จากการประหยัดขนาด (Economic of Scale)
- กระแสโลการภิวัฒน์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กระแสโลกาภิวัฒน์และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารถึงกันทั่วโลก ทำให้สามารถเลือกสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อสนองความต้องการสูงสุด
- การเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือระหว่างกัน โดยอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และการช่วยเหลือแบบให้เปล่าหรือต่างตอบแทน เป็นการที่ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจน อาจอยู่ในรูปแบบขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร (NGO)
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของธุรกิจระหว่างประเทศ
ปัจจัยสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
1. ลักษณะสภาพการณ์โดยทั่วไปของประเทศคู่ค้า
- จำนวนและความหนาแน่นของประชากร
- อัตราการเจริญเติบโตของประชากร
- โครงสร้างอายุของประชากร
- การกระจุกตัว หรือ การกระจายของประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ
- ระดับรายได้และการกระจายรายได้ของประชากร
2. การพัฒนาการตลาดของประเทศคู่ค้า เป็นการพิจารณาถึงความพร้อมของปัจจัยหลักต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
- ระบบการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ
- ระบบการติดต่อสื่อสาร
- การพัฒนาตัวกลางหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่จะให้ความสะดวกต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทขนส่ง บริษัทโฆษณา
3. มาตรการควบคุมการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลประเทศคู่ค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายใน และการสนับสนุนให้ธุรกิจภายในประเทศเติบโต รวมถึงรักษาระดับการจ้างงานภายในประเทศ ได้แก่
- มาตรการทางด้านภาษี
- มาตรการควบคุมที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐานของสินค้านำเข้า การบังคับแหล่งที่มีของสินค้า มาตรการการกำหนดโควตาการนำเข้า
4. ดุลการชำระเงินของประเทศคู่ค้า ดุลการชำระเงินจะเป็นตัวบ่งชี้ความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ กรณีการเกิดภาวะเกินดุลแม้จะบ่งชี้ว่าสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศดี แต่หากเกิดติดต่อเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ส่วนกรณีเกิดสภาวะการขาดดุลเป็นเวลานานก็จะทำให้ทุนสำรองของประเทศลดลง เกิดการขาดสภาพคล่องในระบบส่งผลต่อภาวะการลงทุน การจ้างงาน และปัญหาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และขาดความน่าเชื่อถือในการซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศ
5. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศจะมีลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอันมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ได้แก่
- ศาสนา
- การศึกษา
- ภาษา
- วิถีชีวิต
- รสนิยม
6. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมด้านการเมืองการปกครอง มีความเกี่ยวพันกันโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในลักษณะของการดำเนินการทางด้านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลของแต่ละประเทศ เช่น
- ฐานคติด้านการเมือง เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองแบบทันนิยมแบบประชาธิปไตย ย่อมเปิดกว้างมากกว่าฐานคติแบบสังคมนิยมหรือแบบชาตินิยม
- ความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในการลงทุน
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะเป็นลักษณะของการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ เช่น EU AFTA NAFTA การรวมกลุ่มกันของประเทศต่าง ๆ จะทำให้มีอำนาจเจรจาต่อรองสูง และจะได้รับสิทธิพิเศษบางประการทางการค้า
ปัจจัยสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม
- โดยการวิเคราะห์ประเมินถึงรูปแบบและความรุนแรงในการแข่งขันของบรรดาธุรกิจที่ได้ดำเนินการแข่งขันภายในตลาดของประเทศคู่ค้า
- จำนวนคู่แข่งขัน
- ข้อแตกต่างระหว่างสินค้าของคู่แข่ง
- ภาพพจน์ชื่อเสียงของสินค้าของคู่แข่ง
- ฐานะทางการเงิน
- ต้นทุนสินค้าของคู่แข่ง
- อัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม
- การพัฒนาและวิจัยสินค้า
ปัจจัยภายในประเทศ
- เพื่อประเมินศักยภาพและความพร้อมของบริษัทในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
- คุณภาพสินค้า
- ต้นทุนสินค้า
- ความสามารถของการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ
- กระบวนการภายใน
- ทักษะความสามารถของสมาชิก
- ความสามารถของการแสวงหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ
ปัจจัยภายในประเทศของบริษัท
โดยเฉพาะนโยบายของประเทศ จะมีผลต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งในบริษัท ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ในการพัฒนา การช่วยเหลือในการหาตลาด การผ่อนปรนข้อกีดกันทางการค้า การงดเว้นภาษีนำเข้าด้านวัตถุดิบ การงดเว้นภาษีส่งออก และยังเกี่ยวข้องถึงแหล่งวัตถุดิบ แหล่งแรงงานและแหล่งพลังงาน ตลอดจนอุตสาหกรรมพื้นฐานภายในประเทศที่เพียงพอและเข้มแข็ง ก็จะส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก regelearning.payap.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น